เพราะรักจึงยอมเปลี่ยนแปลง ‘ครอบครัวสุจารีรัตน์’ เปลี่ยนตัวเองเพื่ออยู่กับลูกนานๆ

หลายครั้งที่การกล้าลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อตัวเอง กล้ากัดฟันสู้เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า อาจทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล

    สสส. สนใจประเด็นนี้ และเชื่อว่า หากใครได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างจริงจัง ก็น่าจะมีชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้นได้ไม่ยาก

 

‘ครอบครัวสุจารีรัตน์’ เป็นหนึ่งที่ร่วมโครงการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ของสสส. ในรายการ NCDs Reality จนปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

    ก่อนอื่น ต้องเล่าที่มาของกลุ่มโรค NCDs ที่อาจยังไม่เป็นที่คุ้นหูคนไทยนัก หลายคนอาจยังไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของกลุ่มโรคนี้

    กลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือ ชื่อภาษาไทยเรียกว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นั้นเป็นชื่อเรียก กลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือ ติดต่อ ผ่านตัวนำโรค (พาหะ) หรือสารคัดหลั่งต่างๆ หากแต่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ภายในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากไลฟ์สไตล์วิธีการใช้ชีวิต ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่าง เหล้า บุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย อาหารหวานมันเค็มจัด และมีความเครียด

    โรคไม่ติดต่อเรื้อรังมักจะค่อยๆ มีอาการและรุนแรงขึ้นทีละน้อยหากไม่ได้มีการรักษาควบคุม

    องค์การอนามัยโลก(WHO) เล็งเห็นว่ากลุ่มโรค NCDs นั้น ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สังเกตจาก สถิติผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ในปี พ.ศ. 2552 พบว่าสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกทั้งหมด มีถึง 63% ที่เกิดจากกลุ่มโรค NCDs และที่สำคัญกว่านั้นคือ กว่า 80% เป็น ประชากรของประเทศที่กำลังพัฒนา

    สำหรับประเทศไทยเอง สถิติล่าสุดพบว่ามีถึง 14 ล้านคนที่เป็นโรค ในกลุ่มโรค NCDs และที่สำคัญยังถือเป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของ ประชากรทั้งประเทศ โดยจากสถิติปี พ.ศ. 2552 พบว่า มีประชากรเสีย ชีวิต จากกลุ่มโรค NCDs มากกว่า 300,000 คน หรือ คิดเป็น 73% ของการเสียชีวิต ของประชากรไทยทั้งหมดในปี 2552 คิดเป็นมูลค่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 200,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งสถิติการ เสียชีวิตดังกล่าวยังแสดงว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตมากกว่าค่าเฉลี่ย ของทั้งโลกและมีแนวโน้มจะสูงขึ้น เรื่อยๆ ในอนาคต ซึ่งโรคในกลุ่ม โรค NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงสุด 6 โรค ได้แก่

    1    โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)

    2    โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ (Cardiovascular & Cerebrovascular Diseases )

    3    โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)

    4    โรคมะเร็ง (Cancer)

    5    โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)

    6    โรคอ้วนลงพุง (Obesity)

 

    สาเหตุหลักๆ ก็มาจากพฤติกรรมที่เราเคยชิน เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินหวานมันเค็มเกินไป ขาดการออกกำลังกาย และมีความเครียด ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้คนไทยทำกันเยอะมาก โดยไม่รู้ตัวเราจะเร่ิมเข้าสู่โรคอ้วน และยากเกินแก้ไข

    ครอบครัวสุจารีรัตน์ เป็นครอบครัวอารมณ์ดี ประกอบด้วยคุณพ่อ สุพิเชษฐ์ สุจารีรัตน์ อายุ 33 ปี อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว คุณแม่ เจนจิรา กุลพนาเวศ อาชีพแม่บ้านอายุ 33 ปี และลูกๆ ที่น่ารักอีก 3 คน (ชายหนึ่ง หญิงสอง) ด้วยความที่ทำงานอยู่บ้าน ทั้งคู่จึงไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ตอนเช้าส่งลูกไปโรงเรียนก็เร่งรีบ อาหารที่ทานกันบ่อยจึงเป็นฟาสต์ฟู้ด เช่น แฮมเบอร์เกอร์ และของทอด น้ำหนักของคุณเชษฐ์ ก่อนร่วมโครงการ (วันที่ 6 ก.พ. 2557) อยู่ที่ 103.8 กิโลกรัม ส่วนคุณเจน มีน้ำหนัก 94.4 กิโลกรัม ซึ่งทั้งสองคนมีค่า BMI เกินมาตรฐาน 

    วันหนึ่ง ลูกๆ เห็นรูปสมัยพ่อกับแม่ยังหนุ่มสาว ลูกถามว่า “นี่แม่เหรอ ทำไมไม่เห็นเหมือนเลย” เจนหัวเราะและบอกลูกว่า “อาจเป็นเพราะแม่อ้วนขึ้น” ลูกๆ เลยบอกเธอว่า โตขึ้นอยากเป็นเหมือนแม่ เธอรีบห้าม และบอกว่า “ลูกจะอ้วนไม่ได้ เพราะคนอ้วนจะตายเร็ว” ลูกๆ ได้ยินดังนั้น ก็ร้องไห้กันระงม ไม่ยอมให้แม่จากพวกเขาไปก่อนเวลาอันควร

    หลังจากนั้น ทั้งเชษฐ์และเจน จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง เพื่อ “อยู่กับลูกๆ ให้นานที่สุด”

    รายการตามติดชีวิตทั้งสองคน พบว่า ในแต่ละวัน พวกเขานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ และจอโทรศัพท์มากกว่าขยับตัว อาหารที่ทานมักจะเป็นของทอด ของมัน และด้วยเนื้องานที่เป็นธุรกิจ ก็ทำให้มีอาการเครียดอยู่เป็นประจำ

    ผลตรวจสุขภาพครั้งแรกของพวกเข้าทั้งสองออกมา พบว่า มีไขมันในเลือดสูง และมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือด โรคความดัน แต่หากเปลี่ยนแปลงตัวเองตอนนี้ยังทัน 

    พวกเขาเร่ิมเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง ด้วยการลดอาหารมัน เค็ม หวาน เร่ิมทานไขมันดีๆ เช่น ไขมันปลา หันมาออกกำลังกาย ด้วยการวิ่งและปั่นจักรยาน ถ้าไม่จำเป็น จะไม่ติดอยู่หน้าคอมพ์ฯ และโทรศัพท์นานเกินไป

    มีสิ่งที่ทำดังนี้

    - เมื่อก่อนจะกินมื้อเช้าตอน 11 โมง และกินอีกทีเย็นไปเลย แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นกินมื้อเช้ากินเบา มื้อเย็นกินครบ 3 มื้อ งดมื้อดึก

    - เพิ่มผักผลไม้ในแต่ละมื้ออาหารมากขึ้น อาหารถูกหลักโภชนาการมากขึ้น เลือกกินเนื้อปลามากกว่าการกินเนื้อและหมู

    - ไม่มีอาหารประเภทสำเร็จรูปในตู้เย็น เช่น ไส้กรอก แหนม เน้นซื้อของสดเป็นส่วนใหญ่

    - บ้านปลอดน้ำหวาน

    - เปลี่ยนอาหารว่างจากโดนัท คุ๊กกี้ เป็นผลไม้สดแทน

    - ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 4 วัน ส่วนใหญ่จะวิ่ง ว่ายน้ำ ตีแบดฯ ฟุตบอล

 

    ระยะเวลา 3 เดือนที่พวกเขาทำอย่างจริงจัง ผลการตรวจสุขภาพออกมาดีกว่าเดิมมาก ปริมาณไขมันในร่างกายอยู่ในระดับสมดุล ไม่น่าเชื่อว่า น้ำหนักของคุณเชษฐ์ลดลงเหลือ 82.1 กิโลกรัม ส่วนคุณเจนลดเหลือ 74.5 กิโลกรัม

    คุณเจนบอกว่า “ดีใจมากที่ยังแก้ไขทัน” เพราะหากปล่อยให้ตัวเองทำพฤติกรรมเดิมๆ อาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงได้ในอนาคต 

    สสส. ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยคนไทย ให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี 

    ‘ครอบครัวสุจารีรัตน์’ เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ การเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างจริงจัง นำพาสิ่งดีๆ เข้ามาอย่างไม่น่าเชื่อ และนี่เป็นความสำเร็จจากผลของความรัก 

    ไม่ใช่แค่ครอบครัวนี้เท่านั้น ยังมีอีกหลายคนที่พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง สนใจคลิกเข้าไปดูได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=tXI2dzyEZws  

หรือดูโครงการอื่นๆ ได้ที่ เว็บไซต์ http://www.thaihealth.or.th และ http://www.socialmarketing.thaihealth.or.th 

หรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/socialmarketingth 

 


1,824
คัดลอก URL