คุยกับคุณหมอ “เราจะคุยเรื่องเพศกับลูกอย่างไร”

เป็นประเด็นที่พ่อแม่หลายคนคงกำลังกังวลใจ สำหรับคนที่มีลูกวัยกำลังเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เริ่มสนใจเพศตรงข้าม ฯลฯ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองต้องสนใจวิธีการคุยกับลูกเรื่องเพศอย่างถูกวิธี


เรามีโอกาสคุยกับ อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (คุณหมอโอ๋) กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเล่าถึงวิธีการคุยกับลูกอย่างไรให้ได้ผล

    อ่านเพลิน ได้ความรู้ ไปที่บรรทัดถัดไปเลยค่ะ

พ่อแม่ควรมีวิธีคุยกับลูกเรื่องเพศอย่างไร

    หลายคนมักเข้าใจว่าจะคุยกับลูกเรื่องเพศตอนเข้าวัยรุ่น แต่จริงๆ ควรจะคุยกับลูกมาตั้งแต่เล็กๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราก็คุยกันในครอบครัว เด็กเล็กๆ ก็สอนได้ตั้งแต่ที่เขาเริ่มรู้จักตัวเอง 2-3 ขวบก็สอนได้แล้ว สอนจากเรื่องง่ายๆ เช่น เวลาที่เราอาบน้ำให้เขา อันนี้เรียกจิ๋มนะลูก ของผู้ชายจะไม่เหมือนกัน ของผู้ชายจะมีจู๋ และอาจจะสอนมากไปกว่านั้นคือ จิ๋ม เป็นสิ่งที่ห้ามใครมาจับนะ ถ้าใครมาจับหรือมาเล่น หนูต้องมาบอกพ่อกับแม่ สอนให้เขาดูแลตัวเอง รู้จักปกป้องตัวเอง พอเข้าวัยรุ่น พ่อแม่ต้องมีทัศนคติที่ดีก่อนว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องคุยได้ เราต้องคุยกับลูก เพราะถ้าเราไม่คุยกับลูก ลูกก็อาจจะไปหาข้อมูล ไปซึมซับการคิดต่างๆ จากที่อื่น อย่างที่สองคือ เปลี่ยนทัศนคติว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องห้ามพูด สกปรก จริงๆ เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติที่อยู่กับเราทุกคน หลักการที่สาม หมอคิดว่า อย่าจ้องจะสอนแบบเลคเชอร์ หรือจะหาเวลาเรียกลูกมา เดี๋ยวแม่จะมาคุยกับลูกเรื่องเพศ เด็กจะรู้สึกตกใจ ทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องที่เหมือนเราคุยกันปรกติ เช่น บางทีเราอาจจะเจอข่าวเกี่ยวกับวัยรุ่นถูกข่มขืน เราจะชวนลูกคุย แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่มักจ้องจะสอน แต่หมอจะแนะนำพ่อแม่เสมอว่า พยายามรับฟังและป้อนคำถาม เช่น แทนที่เราเห็นข่าว สมมุติว่ามีข่าววัยรุ่นถูกล่อลวง เราไม่ควรจะหันไปแค่บอกลูกว่า เนี่ย อย่าทำอย่างนี้นะอันตราย เราจะไม่ได้ฝึกให้เขารู้จักคิด อาจจะใช้วิธีการถามคำถาม หนูได้ยินข่าวนี้มั้ยลูก หนูว่าเกิดจากอะไร ทำไมคนนี้ถึงโดนล่อลวงไป ติดต่อกันทางไหนเหรอลูกเดี๋ยวนี้ ก็คือชวนลูกคุย ให้ลูกรู้จักค่อยๆ คิด แล้วลูกคิดว่ายังไง ลูกรู้สึกยังไง คำถามเหล่านี้ จะทำให้เรารู้จักลูก แล้วค่อยแลกเปลี่ยนความคิดกัน 

 

เวลาไหนที่เหมาะสมกับการคุยเรื่องเพศกับลูก

    เวลาที่เหมาะมากๆ เลย คือ เวลาที่ลูกอยากรู้ เช่น เวลาที่ลูกตั้งคำถาม พ่อ ฝันเปียกคืออะไรอ่ะ เราก็อย่าไปปิดโอกาสนั้นโดยการ โอ๊ย ยังเด็กอยู่ อย่าเพิ่งไปรู้เรื่องนี้  หรือทำไมคิดอะไร อยากจะทำอะไรเหรอ ทำไมถามเรื่องนี้ มันจะปิดโอกาสในการคุยกับลูกทันที เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ลูกอยากรู้ นั่นคือโอกาส ป้อนคำถามกับลูก แล้วลูกคิดว่าเป็นอะไร แล้วเราก็ค่อยแลกเปลี่ยน บางอย่างเราอาจจะไม่รู้นะคะ เราก็ไปช่วยกันหาคำตอบกับลูกได้ โอกาสอื่นๆ คือเวลาที่ลูกไม่สนใจอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บางคนลูกดูทีวีอยู่ ก็จ้องจะสอนอยู่ตลอดเลย ทำให้ลูกหงดหงิดรำคาญ อะไรกันนักหนา คือเวลาที่ลูกจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง น่าจะไม่ใช่เวลาที่ดี อย่าสอนตอนที่เรามีอารมณ์ เช่น เราฟังข่าวแล้วรู้สึก โห นี่แย่มากเลย อย่าจ้องไปสอนลูกตอนนั้น ลูกจะไม่รับฟัง เพราะลูกไม่ชอบอะไรที่ผ่านมากับอารมณ์ สอนตอนอารมณ์ดีๆ สอนตอนลูกไม่ได้จดจ่อกับสิ่งอื่น แล้วก็ทำให้เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะพูดคุย

 

อะไรที่เด็กควรรู้ หรือ ไม่ควรรู้ เกี่ยวกับเรื่องเพศ

    เด็กควรรู้ทุกเรื่องที่อยากรู้ ไม่มีเรื่องที่ไม่ควรรู้ เพราะเดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรที่เป็นความลับ หรือต้องปกปิด ทุกอย่างหาง่าย คำตอบข้อสงสัยอะไรก็ตามที่มี แต่ควรจะรู้ว่าตัวเองมีขอบเขตในการจะรู้มากน้อยแค่ไหน หรือควรใช้เวลาอยู่กับความอยากรู้อยากเห็นเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน เด็กควรจะรู้เรื่องของขอบเขต แต่หมอไม่คิดว่าจะมีเรื่องที่ไม่ควรรู้

 

พ่อแม่แบบไหนที่จะคุยกับลูกเรื่องเพศได้ดี

    พ่อแม่ที่คุยเรื่องอื่นได้ดีก่อน บางทีเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ เช่น วันๆ ไม่มีเวลาให้กัน พ่อแม่ก้มหน้าอยู่แต่กับหน้าจอ ต่างคนต่างอยู่แต่กับเครื่องของตัวเอง อยู่ดีๆ วันนึงจะลุกขึ้นมาคุยเรื่องเพศกับลูก ก็ไม่ง่าย ฉะนั้นหมอคิดว่า ก็ต้องกลับไปอยู่ในเรื่องที่ลูกและพ่อแม่มีเวลาให้กันเยอะๆ ก่อน เวลาดีๆ ที่เราจะอยู่ด้วยกันแบบมีความสุข มีเสียงหัวเราะมีรอยยิ้ม อันนั้นจะเป็นพ่อแม่ที่ทำให้สามารถพูดคุยในเรื่องอื่นๆ ได้ไม่ยาก เช่นถาม เพื่อนเป็นยังไงบ้างลูก แล้ววันนึงจะมาคุยเรื่องเพศ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ลูกรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ สำคัญเลย คือทักษะการพูดคุยกับเด็กวัยรุ่น ซึ่งบางทีเราจะเข้าใจว่าเป็นโอกาสที่เราจะสอนเรื่องนั้นเรื่องนี้กับเขา ซึ่งต้องเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น ว่าเขาไม่ได้อยากรู้สึกเด็ก เขาอยากจะรู้สึกว่าตัวเขาใช้ได้ คิดเก่ง ทำได้ เพราะฉะนั้นการที่มีพ่อแม่มาคอยบอกว่าต้องคิดแบบนี้สิ ต้องอย่างนี้นะ พ่อเคยอาบน้ำร้อนมาก่อน แม่เคยผ่านมาก่อน เป็นอะไรที่เด็กไม่ชอบฟัง หลักๆ คือพ่อแม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าลูกใช้ได้ ตั้งคำถามกับเค้า ลูกคิดว่ายังไง เจออย่างนี้ที่โรงเรียน เขามาเล่าให้ฟังว่า เพื่อนๆ เป็นแฟนกันด้วย เราจะถามลูก เหรอ แล้วลูกคิดว่ายังไงล่ะ ตัวลูกคิดว่าจะมีแฟนเมื่อไหร่ ที่สำคัญคืออย่ารีบสอน รับฟังเยอะๆ แล้วเราค่อยเติมเต็มสิ่งที่เราคิด ตอนที่เรารู้สึก ตอนที่เรารับฟังเขาได้้ดีมากๆ แล้ว 

 

ถ้าลูกมาถามว่าอยากมีแฟน?

    อย่างที่หนึ่ง พ่อแม่อย่าตระหนกตกใจกับคำว่าแฟนของลูก คือเด็กบางทีก็ใช้คำว่าแฟนกับอะไรที่ดูพิเศษขึ้นมาหน่อย กับคนที่เขาปลื้มชอบ แล้วคำว่าแฟนก็ไม่ได้แปลว่า เซ็กซ์ ความรักกับเซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน อย่าเพิ่งไปคิดว่า แฟน=มีอะไรกัน ความรักหรือความรู้สึกดีเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเกิดขึ้น เกิดขึ้นกับคนทุกวัย แล้ววัยรุ่นเป็นวัยที่สมองส่วนอารมณ์จะโตเยอะหน่อย ก็อยู่กับความตื่นเต้น หวือหวา เพ้อฝัน ฟิน เวลามีแฟน ก็เป็นเรื่องดี อันดับแรกที่หมออยากให้พ่อแม่รู้ว่า ลูกเข้ามาบอกว่า หนูอยากมีแฟน อยากให้ดีใจว่าเราคือคนนึงเลยนะที่ลูกอยากคุยด้วย หรือลูกไม่ปิดบังเรา ลูกคิดว่าเราคือคนที่คุยได้ เราก็แทนที่จะแบบ เด็กแค่นี้แทนที่จะคิดเรื่องอื่น มันก็ปิดโอกาส เราควรจะถามลูกง่ายๆ ว่า แฟนของลูกเป็นยังไง คำว่าแฟนเป็นยังไง แล้วลองฟัง อาจจะไม่ได้เป็นอะไรใหญ่โตอย่างทีเราคิด แล้วเราก็ค่อยๆ คุยกับลูกว่า แล้วแฟนของลูก ขอบเขตมันอยู่แค่ไหน ลูกจะทำอะไรกันบ้าง มีอะไรที่พิเศษกว่าเพื่อนทั่วไป ทำให้เขาได้ค่อยๆ มองคำว่าแฟน แล้วเราจะได้ค่อยๆ สอน แล้วลิมิตเราอยู่ตรงไหน แฟนของลูกนี่จับมือได้มั้ย หอมแก้มได้มั้ย แล้วเราจะได้ใช้เวลาอย่างนี้คุยกับลูกว่าตัวเราคิดยังไง แล้วลูกคิดยังไง รับฟังลูก แล้วก็อย่าปิดโอกาสที่จะบอกลูกว่า ไม่ได้ รอจบก่อน ห้ามมีแฟนตอนเรียน พ่อรับไม่ได้ หมอคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ได้ทำให้ลูกเลิกมีแฟน แต่จะทำให้ลูกมีแฟนแบบที่เราไม่ได้รับรู้ แล้วก็ถูกปิดบัง ซึ่งนั่นเป็นอันตราย เพราะเขาก็จะต้องไปเจอกัน หรืออยู่ด้วยกันในที่ที่ไม่มีคนเห็น ซึ่งสถานที่เหล่านั้นก็มักจะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นเปิดใจกว้างกับลูก ทำความรู้จักกับเพื่อนของลูก หรือคนพิเศษของลูก ว่าเขาเป็นยังไง การที่เราไม่รู้จัก เราจะวิจารณ์ไม่ได้ พูดถึงลำบาก เพราะฉะนั้นพามารู้จักกัน ให้ลูกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย นั่นคือบ้าน เวลาที่เราอยู่

 

พ่อแม่ควรจะคุยกับลูกวัยรุ่นในเรื่องอะไรบ้าง

    พ่อแม่หลายคนอาจจะคิดว่า การจะคุยเรื่องเพศกับลูก คือคุยเรื่องแฟน เพศสัมพันธ์ แต่จริงๆ แล้วมิติของคำว่าเพศเยอะมาก พ่อแม่ควรจะต้องคุยแล้วทำความเข้าใจกับลูก มีตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงร่างกายเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงมีหน้าอก มีประจำเดือน สิ่งเหล่านี้เราควรจะอธิบายให้ลูกฟังว่าเกิดจากอะไร การดูแลร่างกายตัวเองขณะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายควรทำอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะมีฝันเปียก มีอวัยวะเพศแข็งตัว นอกจากนี้ ก็เป็นการคุยเรื่องเพศ ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง โอกาสที่จะมีเพศสัมพันธ์ ตั้งครรภ์ ป้องกันการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด นอกจากนี้มิติอื่นๆ ของเรื่องเพศ ก็มีเรื่องความหลากหลายทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ แต่ละคนมีความเป็นชายเป็นหญิงไม่เท่ากัน มีการแสดงออกทางเพศ บทบาททางเพศที่ไม่เหมือนกัน เรามีรสนิยมทางเพศที่ไม่เหมือนกัน ผู้ชายส่วนใหญ่ชอบผู้หญิง ผู้หญิงส่วนใหญ่ชอบผู้ชาย แต่ว่าก็มีผู้ชายบางกลุ่มชอบผู้ชาย ผู้หญิงบางกลุ่มชอบผู้หญิง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ แล้วคนเหล่านี้ก็เป็นคนปรกติที่อยู่ร่วมกับเราได้ หมอคิดว่าเป็นสิ่งที่พ่อแม่จะช่วยปลูกฝังในเรื่องความเข้าใจ ในเรื่องความหลากหลายทางเพศที่ดีขึ้น 

    นอกจากนี้หมอคิดว่ามีเรื่องของสิทธิทางเพศ ตัวเรามีสิทธิที่จะปกป้องดูแลตัวเอง ไม่มีใครมีสิทธิที่จะเข้ามารุกล้ำ ล่วงเกินตัวเรา แม้กระทั่งคนในครอบครัว จริงๆ ความหลากหลายทางเพศ ในปัจจุบันเราพบว่าเป็นเรื่องปรกติทางธรรมชาตินะคะ แต่ก่อนอาจจะเคยถูกมองว่าเป็นความเบี่ยงเบน เป็นความผิดปรกติ แต่ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ก็มีการทำความรู้จักในเรื่องเพศของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ พบว่าจริงๆ เป็นความหลากหลายทางธรรมชาติ รสนิยมทางเพศ อย่างเช่นคนที่ชอบเพศเดียวกัน ก็ไม่ได้ถือเป็นความผิดปรกติเลย กลุ่มคนที่เป็นข้ามเพศเช่น ตุ๊ด กระเทย ทอม แต่ก่อนถูกวินิจฉัยว่าเป็นความผิดปรกติ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ทางสมาคมจิตแพทย์ก็ตัดเรื่องความผิดปรกติออกไป แค่บอกว่าเป็นภาวะที่ไม่มีความสุขกับเพศที่เป็น เพราะฉะนั้นหมอคิดว่าพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจกับวิทยาศาสตร์ที่เราค้นพบ แล้วก็เรียนรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับมนุษย์ คือความหลากหลายทางเพศไม่ได้เป็นความผิดปรกติ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ลูกเลือก มันเป็นธรรมชาติที่แต่ละคนมี เป็นธรรมชาติที่เขาแสดงออกตามสมองของเขา ปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ชัดเจน ก็อาจจะเป็นสาเหตุหลากหลายร่วมกัน แต่พบว่าปัจจัยทางชีวภาพมีผลเยอะ ที่จะทำให้ใครแต่ละคนเติบโตมาเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่เรื่องของการเลี้ยงดูในเมื่อคนเหล่านี้เป็นคนที่ปรกติเหมือนๆ  คนอื่น สำคัญที่สุดก็คือการได้รับการยอมรับจากครอบครัว การที่พ่อแม่จะแสดงความเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น ยอมรับกับสิ่งที่ลูกไม่ได้เลือก แต่ก็เป็นธรรมชาติของลูก ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ถึงกับสนับสนุนไปแบบสุดโต่ง เอาเลยอยากทำอะไรก็ทำ อาจจะมีขอบเขตที่น่าจะปลอดภัย แล้วก็ดีกับลูก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราสามารถพูดคุยกับลูกได้ว่าลูกอยากจะทำอะไรแค่ไหนอย่างไร แล้วจะส่งผลกระทบยังไงบ้าง ซึ่งหมอคิดว่าการยอมรับของครอบครัวจะส่งผลที่ดีต่อการพัฒนาของวัยรุ่น จะส่งผลในเรื่องของการรู้สึกดีกับตัวเอง ยอมรับนับถือตัวเอง ส่งผลต่อการพัฒนาตัวเอง แล้วก็กลายเป็นคนที่มีความสุข 


1,816
คัดลอก URL