รอให้ลูกโตเป็นหนุ่มสาว ก็สายเสียแล้ว เรื่องเพศคุยได้ คุยเลย

พบถุงยางอนามัย หรือยาคุมกำเนิด ในกระเป๋าลูก!!! ถ้าเป็นคุณจะทำอย่างไร?

เชื่อว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่อาจสตั๊นไป 10 วิ หากเจอลูกที่ยังเป็นเด็กน้อยในสายตาตัวเองอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ และอดไม่ได้ที่จะดุด่า ซักไซ้ ตักเตือนเพราะรู้สึกว่ายังไม่ถึงวัยที่จะใช้อุปกรณ์เหล่านี้


จากข้อมูลการบริการ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม พบว่าในช่วงการระบาดโควิด-19 มีหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมขอรับบริการปรึกษาทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยมีสถิติสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2564 รวม 4,461 คน เฉลี่ย 149 คนต่อวัน เป็นหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีถึง 26 คน มากกว่าช่วงสถานการณ์ปกติคือ เดือนตุลาคม 2563 ที่มีผู้ขอรับคำปรึกษาเพียง 2,490 คน เป็นหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี 16 คน ส่วนใหญ่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ สอดคล้องกับข้อมูลจาก เว็บไซต์อาร์เอสเอไทย www.rsathai.org  หรือเครือข่ายอาสา ที่มียอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ในเดือนพฤษภาคม 2564 สูงถึง 208,022 ครั้ง โดยมีการเข้าชมสูงสุดในหน้าเกี่ยวกับสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ ถึง 43,665 ครั้ง                                        

พ่อแม่ได้เห็นข้อมูลข้างต้น อาจทำให้มุมคิดเปลี่ยนไปว่าการที่ลูกพกถุงยางอนามัยถือว่ามีความรับผิดชอบ รู้จักการป้องกัน ทำให้ปลอดภัยเรื่องการตั้งครรภ์ รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อพ่อแม่ไม่ตัดสินว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นเรื่องผิด แต่เปิดใจรับฟัง พร้อมจะให้คำปรึกษา และเป็นที่พึ่งไม่ว่าลูกจะเจอปัญหาใดๆ จะช่วยให้ลูกมีความเข้าใจเรื่องเพศ สุดท้ายจะเป็นอาวุธที่ติดตัวลูกแล้วเขาจะหยิบมาใช้ป้องกันตัวเองได้ในระดับหนึ่ง

          เรื่องเพศ ไม่ใช่เป็นเรื่องต้องห้าม พ่อแม่ต้องเปลี่ยนมุมมองของตัวเองใหม่แล้วว่า เรื่องเพศเป็นธรรมชาติของคนเรา ซึ่งเรื่องเพศก็ไม่ได้มีแค่เรื่องเพศสัมพันธ์ ยังมีความรู้หลายอย่างที่เด็กควรเรียนรู้และเข้าใจ เช่น เรื่องสุขอนามัย สิทธิทางเพศ ทักษะชีวิตต่างๆ ที่สำคัญ การพูดคุยเรื่องเพศเป็นทักษะที่เรียนรู้ ฝึกฝนได้พ่อแม่จึงไม่ต้องกังวลว่าไม่รู้จะคุยเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร

ถ้าเปิดใจแล้ว แต่ลูกไม่ยอมคุยด้วยจะทำอย่างไร!!!

วิธีไหนถึงจะทำให้ลูกกลับมาอยู่ทีมเดียวกับพ่อแม่ และนั่งคุยเรื่องเพศได้อย่างชิลๆ

หลายคำตอบที่ตอบโจทย์ให้พ่อแม่ได้ อยู่ในหนังสือ “เทคนิคคุยกับลูกเรื่องเพศ ฉบับเข้าใจลูก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญรณรงค์ “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่อเนื่องจากแคมเปญ “โอกาสทองคุยกับลูกเรื่องเพศ” ที่มุ่งเน้นให้พ่อแม่เห็นถึงโอกาสในการคุยกับลูกเรื่องเพศ  

- พ่อแม่จะเข้าถึงโลกของลูกได้อย่างไร

- คุยอย่างไร ลูกถึงจะไม่ลุกหนี

- คุยเรื่องเพศกับลูก พ่อแม่ต้องมีเทคนิค หรือทักษะอะไรบ้าง

- ตั้งคำถามแบบไหนกับลูก ถึงจะไม่เหมือนการสอบสวน

- ลูกหลากหลายทางเพศ ทำอย่างไรดี

นี่คือตัวอย่างคำถามที่สะท้อนได้ว่า “เรื่องเพศ” ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องเพศสัมพันธ์เท่านั้น ใครกำลังเจอปัญหาเหล่านี้ที่บ้าน หนังสือเทคนิคคุยกับลูกเรื่องเพศ ฉบับเข้าใจลูก จะเป็นตัวช่วยให้พ่อแม่ที่กำลังรับมือกับลูกวัยซ่าสามารถเข้าใจเรื่องเพศได้กว้างขวางและมีมุมมองที่ยอมรับความหลากหลายได้มากขึ้น รวมทั้งรู้วิธีเดินเข้าไปสู่โซนชีวิตของลูกได้ง่ายขึ้น การที่พ่อแม่ได้ชวนลูกคุย จะเป็นการฝึกวิธีคิด ได้แลกเปลี่ยนมุมมอง และทำให้ลูกรู้ว่าครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะคุยเรื่องอะไรกันก็ได้ ยิ่งลูกรู้เร็วจะยิ่งมีทักษะในการดูแลตัวเอง

ผู้ที่สนใจ หนังสือเทคนิคคุยกับลูกเรื่องเพศ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่  https://www.xn--42cg3eof6a6a9eg5fe7g.com/multimedia_items/1571/

 


คัดลอก URL